สงขลา เทศกาลบุญสารทเดือนสิบครั้งแรกเงียบเหงา หลังจังหวัดออกมาตรการป้องกันโควิด-19 เข้มฃ
วันที่ 22 ก.ย. 64 บรรยากาศเทศกาลวันสารทเดือนสิบ ครั้งที่ 1 จังหวัดสงขลา มีประชาชนออกมาร่วมทำบุญที่วัดค่อนข้างบางตา เนื่องจากเป็นพื้นที่สีแดงเข้ม พบผู้ติดเชื้อโควิด 19 อย่างต่อเนื่อง และจังหวัดได้ออกมาตรการป้องกันโควิด 19 ในการจัดกิจกรรมบุญสารทเดือนสิบในพื้นที่อย่างเข้มงวด ทำให้หลายวัดในจังหวัดสงขลางดการจัดกิจกรรมบุญสารทเดือนสิบที่วัดในปีนี้

เช่นเดียวกับที่วัดพะโคะ วัดเก่าแก่ของจังหวัดสงขลา ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลชุมพล อำเภอสทิงพระ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ยังไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด 19 ได้งดจัดกิจกรรมบุญสารทเดือนสิบที่วัดทั้ง 2 ครั้งในปีนี้ แต่จะให้คณะสงฆ์ออกบิณฑบาต เพื่อนำอาหารคาวหวานของชาวบ้านมาสวดมาติกาบังสุกุลที่วัด เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้พ่อแม่ ตายาย บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ และมีตัวแทนชาวบ้านร่วมพิธีเพียงไม่กี่คน

โดยพระครูปุญญาพิศาล เจ้าอาวาสวัดพะโคะ เผยว่า ที่ผ่านมาเทศกาลบุญสารทเดือนสิบจะมีชาวบ้านหลั่งไหลกันมาทำบุญรับ-ส่งตายายที่วัดกันเป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 และมาตรการของจังหวัดทำให้วัดต้องปรับรูปแบบการจัดกิจกรรม โดยงดให้ชาวบ้านมารวมตัวทำบุญกันที่วัด ซึ่งได้ประกาศให้ชาวบ้านรับทราบก่อนหน้านี้แล้วและได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านเป็นอย่างดี แม้ว่าจะไม่ได้มาร่วมพิธีที่วัด แต่เชื่อว่าตายายและบรรพบุรุษ ก็จะได้รับบุญรับส่วนกุศลเช่นเดียวกัน และลูกหลานยังปลอดภัยจากโรคโควิด 19 ด้วย

ประเพณีวันสารทไทย หรือ วันสารทเดือนสิบ เป็นประเพณีทำบุญ ในเดือน 10 เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ตามความเชื่อทางพุทธศาสนา ถือว่า พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตายาย และญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่ต้องตกนรก หรือเรียกว่าเปรตนั้น จะได้รับอนุญาตให้มาพบกับญาติของตนในเมืองมนุษย์ได้ ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 และกลับไปสู่นรกดังเดิม ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 โดยในปีนี้วันรับตายายหรือบุญแรก ตรงกับวันที่ 22 กันยายน 2564 และบุญหลัง หรือวันส่งตา ตรงกับวันที่ 6 ตุลาคม 2564


อ้างอิง : สวท.สงขลา