สธ.สงขลา เตือนประชาชน ระมัดระวังป้องกันโรคเมลิออยด์

สธ.สงขลา เตือนประชาชน ระมัดระวังป้องกันโรคเมลิออยด์

วันที่ 19 ต.ค. 65 นพ.สงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา ได้กล่าวว่า โรคเมลิออยโดสิส ( Melioidosis ) หรือ โรคเมลิออยด์ หรือโรคไข้ดิน เป็นโรคติดเชื้อประจำถิ่นของทุกประเทศในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ มีอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Burkholderia pseudomallei ซึ่งพบได้ในดินและน้ำ พบได้ทุกภาคของประเทศไทย เชื้อโรคชนิดนี้ติดต่อสู่คนโดยการสัมผัสเชื้อในดินหรือน้ำ โดยเฉพาะการสัมผัสกับเชื้อบริเวณผิวหนังที่มีแผลเปิดนั้นเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อสูงรวมทั้งการดื่มน้ำและรับประทานอาหารที่มีเชื้อปนเปื้อน และอาจจะได้รับเชื้อผ่านทางการหายใจ จากการสูดหายใจเอาฝุ่นผงดินที่มีเชื้อเข้าไป ส่วนการแพร่กระจายระหว่างมนุษย์กับมนุษย์นั้นมีการรายงานว่าพบได้น้อย สำหรับสถานการณ์โรคเมลิออยด์ ของจังหวัดสงขลา ตั้งแต่ 1 ม.ค. – 18 ต.ค. 2565 ได้รับรายงานผู้ป่วยฯ จำนวน 24 ราย เสียชีวิต 7 ราย พบผู้ป่วยในทุกกลุ่มวัย แต่ส่วนใหญ่เป็นวัยทำงานและกลุ่มอายุ 65 ปี ขึ้นไป ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอาชีพรับจ้าง งานบ้าน และเกษตรกร พบจำนวนผู้ป่วยมากที่สุดในพื้นที่อำเภอเทพา (7 ราย ) รองลงมาคืออำเภอเมืองสงขลา (5 ราย ) และสิงหนคร (4 ราย) และพบผู้ป่วยกระจายในพื้นที่ทุกอำเภอ

Friendship,young Farmer Planting On The Rice Berry Organic Paddy

อาการของโรคเมลิออยด์ ไม่มีอาการแสดงจำเพาะ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไข้สูง พบว่าผู้ป่วยครึ่งหนึ่งมีอาการคล้ายปอดอักเสบติดเชื้อ บางรายอาจมีอาการ ไข้สูง ช็อก จากการติดเชื้อในกระแสเลือดเพียงอย่างเดียว แต่บางรายอาจจะมีการติดเชื้อหลายๆอวัยวะร่วมกันเช่น มีแผลติดเชื้อ มีฝีหนองที่ปอด ตับ หรือม้าม ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเรื้อรังหรือไอเรื้อรังคล้ายวัณโรคได้การติดเชื้อ มักรุนแรงนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลว ช็อก ระบบหายใจล้มเหลว และเสียชีวิตได้ โดยกลุ่มเสี่ยงที่สุดคือ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคพิษสุราเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง และผู้ที่สัมผัสเชื้อจากดินและน้ำ เช่น เกษตรกร เด็กๆที่เล่นน้ำในนา นอกจากนี้ ผู้มีโรคประจำตัวที่เป็นสาเหตุให้มีภูมิคุ้มกันต่ำอื่นๆ เช่น โรคมะเร็ง วัณโรค โรคธาลัสซีเมีย ผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน และ ผู้ป่วยที่รับยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน

Person In Blue Denim Jeans And Brown Boots Standing On Water During Daytime

นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา ได้กล่าวย้ำว่า โรคเมดิออยด์ มีอัตราการเสียชีวิตสูง ต้องใช้ยาปฏิชีวนะที่จำเพาะต่อโรค และสามารถป้องกันได้ ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนสำหรับป้องกันโรคเมลิออยด์ ดังนั้น การลดความเสี่ยงในการรับเชื้อโรคทำได้ ดังนี้ สวมรองเท้าบูทเพื่อป้องกันการติดเชื้อจากการที่เท้าสัมผัสกับดินและน้ำเป็นเวลานาน ทำความสะอาดร่างกายทันทีหลังการสัมผัสกับดินและน้ำ , ดื่มน้ำสะอาดและน้ำต้มสุกหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ สำหรับอาการที่ต้องรีบพบแพทย์ ได้แก่ มีอาการไข้สูงเป็นเวลานานเกิน 3 วัน หรือ เกิดแผล ฝี หนอง ตามร่างกาย ควรรีบพบแพทย์

อ้างอิง : สาธารณสุขจังหวัดสงขลา

Next Post

สงขลา เทศบาลคอหงส์ เตรียมพร้อมรับมือฤดูฝน ปี 65 ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุรับมือสถานการณ์อุทกภัย

Thu Oct 20 , 2022
สงขลา เทศบาลคอหงส์ เตรียมพร้อมรับมือฤดูฝน ปี 65 ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุรับมือสถานการณ์อุทกภัย วันที่ 20 ต.ค. 65 เทศบาลเมืองคอหงส์เปิดพิธีการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุรับมือสถานการณ์อุทกภัย มาตรการที่ 10 และมาตรการที่ 11 ตามมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2565 ณ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมฝึกซ้อมแผนฯ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการบริหารจัดการน้ำและเผชิญเหตุ ทั้งในส่วนกลางและหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ได้ร่วมซักซ้อมการปฏิบัติตามมาตรการ ให้สามารถติดตามประเมิน และคาดการณ์สถานการณ์น้ำ พร้อมแจ้งเตือน รวมถึงการบริหารจัดการน้ำ และการให้ความช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบให้มีความเป็นเอกภาพ ทันต่อสถานการณ์เตรียมพร้อมรับมือฤดูฝน ปี 65 ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุรับมือสถานการณ์อุทกภัย ในพื้นที่  ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยของเทศบาลเมืองคอหงส์ในครั้งนี้ เป็นการเตรียมความพร้อม ทั้งเครื่องจักร กำลังพล การเตรียมการในการระบายน้ำ และการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ที่เป็นจุดอ่อน และจุดเสี่ยงน้ำท่วม เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับพี่น้องประชาชน ในประสิทธิภาพของการรับมืออุทกภัยของเทศบาลเมืองคอหงส์และจะมีการเปิดศูนย์อำนวยการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเทศบาลเมืองคอหงส์อีกด้วย อ้างอิง : เทศบาลเมืองคอหงส์ Facebook iconFacebookTwitter iconTwitterLINE iconLine
ปกข่าว 01