ตัวแทนกลุ่มเครือข่ายร้านอาหารเมืองสงขลา เข้ายื่นหนังสือแก่ผู้ว่าฯสงขล
าขอรับการเยียวยาในฐานะผู้ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19
วันที่ 12 ก.ค. 64 ณ ห้องปฏิบัติราชการผู้ว่าราชการจังหวัดสงลา ตัวแทนกลุ่มเครือข่ายร้านอาหารอำเภอเมืองสงขลา นำโดยนายประพันธ์ ฉลวยธนาพร ตัวแทนผู้ประกอบการ เดินทางมายื่นหนังสือเสนอต่อนายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เพื่อเสนอแนวทางการแก้ปัญหาและขอรับการเยียวยาในฐานะผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นกรณีเร่งด่วนไปยังรัฐบาล เนื่องจากที่ผ่านมาในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ระลอกแรกจนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ผู้ประกอบการร้านอาหารได้รับผลกระทบและเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ในขณะที่ค่าใช้จ่ายเท่าเดิม หรือเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีผู้ประกอบการร้านอาหารจำนวนไม่น้อยตัดสินใจเลิกกิจการ เพราะไม่สามารถแบกรับภาระในระยะยาวได้
นายประพันธ์ ฉลวยธนาพร ตัวแทนกลุ่มเครือข่ายร้านอาหารอำเภอเมืองสงขลา กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดในระลอกแรกภาครัฐมีคำสั่งให้ผู้ประกอบการ ร้านอาหารสามารถเปิดดำเนินการได้แต่ไม่ให้มีการนั่งรับประทานอาหารที่ร้าน สามารถสั่งแบบกลับไปรับประทานที่บ้านเท่านั้น ทำให้ยอดขายหรือรายได้ลดลง 60-70 % ในขณะที่รายจ่ายของผู้ประกอบการร้านอาหารมีเท่าเดิม ทั้งค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำค่าไฟฟ้า ค่าจ้างพนักงาน และ ค่าใช้จ่ายอื่นๆ แต่ภาครัฐไม่ได้มีการช่วยเหลือเยียวยา จนถึงปัจจุบันการระบาดในระลอกที่ 3 ภาครัฐมีคำสั่งให้ผู้ประกอบการร้านอาหารเปิดได้ถึงเวลา 20.00 น. โดยห้ามนั่งรับประทานอาหารที่ร้านทุกกรณี แต่ภาครัฐไม่ได้มีมาตรการช่วยเหลือเยียวยา ผู้ประกอบการร้านอาหารอย่างเป็นรูปธรรม
ในโอกาสนี้ ทางเครือข่ายกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหาร อำเภอเมืองสงขลา จึงขอเสนอแนะและขอรับการช่วยเหลือเยียวยาในฐานะผู้ได้รับผลกระทบสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จากทางจังหวัดสงขลา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 4 ข้อ ประกอบด้วย 1. ขอรับวัคซีนสำหรับผู้ประกอบการร้านอาหาร ครอบครัว พนักงาน ซึ่งเป็นบุคคลที่มีความเสี่ยงสูง ในการสัมผัสและพบปะลูกค้าเป็นจำนวนมาก ในพื้นที่อำเภอเมืองสงขลา จำนวน 10,000 โดส เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้รับบริการลูกค้า
2.จัดหางบประมาณในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการร้านอาหาร ในพื้นที่อำเภอเมืองสงขลา ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง และขอให้มีการเจรจากับสถาบันการเงินทั้งของภาครัฐและเอกชน ให้มีการปล่อยเงินกู้ในลักษณะ ดอกเบี้ยระยะยาว เช่น วงเงินกู้ต่ำสุด 200,000 บาท สูงสุด 5,000,000 บาท ระยะต้นปลอดดอกเบี้ย 6 เดือน จากนั้นคิดดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี โดยชำระไม่เกินภายในระยะเวลา 5 ปี เป็นต้น
3. จังหวัดสงขลา ต้องมีโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพื่อส่งเสริมรายได้ของผู้ประกอบการร้านอาหารใน พื้นที่อำเภอเมืองสงขลา หลังภาวะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้สอดคล้องกับแนวคิดและนโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่จะเปิดประเทศในระยะเลา 120 วัน โดยจัดมหกรรมแนะนำร้านอาหารอร่อย ภายใต้ชื่อกิจกรรม “เมืองสงขลาร้านอาหารอร่อย … อาหารหรอยสองเล” โดยเป็นกิจกรรมออกร้าน 5 -7 วัน โดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ประกอบการร้านอาหาร เพื่อส่งเสริมการกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมของจังหวัดสงขลา และเป็นการประชาสัมพันธ์ร้านอาหารในจังหวัดสงขลาสู่สังคมภายนอก
4. ให้จังหวัดสงขลามีมาตรการในการฟื้นฟูร้านอาหารในพื้นที่อำเภอเมืองสงขลา และขอให้จังหวัดสงขลาทำโครงการนำเสนอรัฐบาล โดยใช้งบประมาณเงินกู้ 5 แสนล้านบาท ในการสนับสนุนเพื่อฟื้นฟูเยียวยาผู้ประกอบการร้านอาหาร ในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา
ด้านนายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า จังหวัดสงขลา ได้เล็งเห็นปัญหาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งทางจังหวัดสงขลาจะนำข้อเสนอดังกล่าวนี้ส่งไปยังรัฐบาลให้ได้รับทราบถึงความเดือดร้อนที่ผู้ประกอบการ ฯ ต้องประสบมาในทุกระลอกของการระบาดโรคโควิด-19 และเพื่อให้รัฐบาลได้รับฟังเสียงจากพี่น้องผู้ประกอบการร้านอาหารเพื่อที่จะหาทางออกให้ผู้ประกอบการต่อไป
อ้างอิง : ประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา