1 ธ.ค.นี้ ดีเดย์น้ำมันดีเซลไม่เกินลิตรละ 28 บาท พร้อมปรับสูตรเหลือแค่ B7 ชนิดเดียว วันที่ 25 พ.ย. 64 นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน แถลงผลการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ทั้งนี้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ปรับลดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว เหลือ 1 ชนิด คือ B7 จากปัจจุบันมี 3 ชนิด คือ B7 B10 และ B20 เป็นเวลา 4 เดือน โดยคาดว่าจะให้เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2564 ไปจนถึง 31 มีนาคม 2565 ซึ่งหลังจากนี้จะมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป อย่างไรก็ตามการปรับสูตรผสมน้ำมันดีเซลดังกล่าว จะส่งผลให้ราคาขายปลีกลดลงมาอยู่ที่ไม่เกินลิตรละ 28 […]

สงขลา พบผู้ป่วยโควิด 455 คน รวมผู้ป่วยโควิดระลอกเดือน เม.ย. สะสม 59,113 คน วันที่ 25 พ.ย. 64 จังหวัดสงขลาพบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อเพิ่ม 455 ราย มีรายละเอียดผู้ติดเชื้อ ดังนี้ ขอให้พี่น้องชาวสงขลาร่วมด้วยช่วยกัน การ์ดไม่ตก สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่ออกจากบ้าน และหมั่นล้างมือทำความสะอาดบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก พร้อมปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตามที่สาธารณสุขกำหนดอย่างเต็มที่ และปฏิบัติตามมาตรการ D-M-H-T-T อย่างเคร่งครัด เพื่อรับมือโควิด-19 ระลอกใหม่นี้ HATYAITODAYNEWS อ้างอิง : ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา

จังหวัดสงขลา กำชับทุกอำเภอเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ช่วงวันที่ 26-30 พ.ย.นี้ วันที่ 25 พ.ย. 64 นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่ภาคใต้ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์ (ONE MAP) ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ร่วมกับคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ พบว่ายังคงมีฝนตกอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ภาคใต้ จึงขอเน้นย้ำให้เฝ้าระวังในช่วงวันที่ 26-30 พฤศจิกายน 2564 ดังนี้ 1.เฝ้าระวังน้ำหลาก ดินถล่ม บริเวณจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุงสงขลา ระนอง ตรัง ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส 2.เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำในภาคกลาง จังหวัดเพชรบุรีประจวบคีรีขันธ์ ภาคใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี กระบี่ ระนอง ภูเก็ต ตรัง และนราธิวาส 3.เฝ้าระวังระดับน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณคลองบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ คลองชุมพร คลองหลังสวน คลองสวี จังหวัดชุมพร คลองอิปัน  แม่น้ำตาปี จังหวัดสุราษฎร์ธานี  คลองท่าดี จังหวัดนครศรีธรรมราช ทะเลสาบสงขลา คลองอู่ตะเภา จังหวัดสงขลา แม่น้ำปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดปัตตานี แม่น้ำโก-ลก และคลองตันหยงมัส จังหวัดนราธิวาส โดยเฉพาะ พื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณปากอ่าว เนื่องจากจะมีระดับน้ำทะเลหนุนยกตัวสูงกว่าปกติในช่วงเวลาดังกล่าว ประมาณ 0.5-1 เมตร จึงขอให้อำเภอและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ติดตามสถานการณ์ และแจ้งเตือนให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า และเตรียมความพร้อมรับมือ โดยการติดตามสภาพอากาศ และสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ พร้อมทั้งให้ปรับแผนบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ80 หรือเกณฑ์ควบคุมสูงสุด (Upper Rule Curve) ให้เหมาะสม และสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ พร้อมพิจารณาบริหารจัดการเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำ และเร่งระบายน้ำในลำน้ำแม่น้ำให้สอดคล้องกับการขึ้น – ลง ของระดับน้ำทะเล  รวมทั้งใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นแก้มลิงหน่วงน้ำ และรองรับน้ำหลาก พร้อมให้ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความสามารถใช้งานของอ่างเก็บน้ำ การเตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมพร้อมบุคลากร  เครื่องจักรเครื่องมือ ระบบสื่อสาร พร้อมการประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้าให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบเตรียมพร้อมในการอพยพได้อย่างทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์ อ้างอิง : การกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา

ผู้ว่าฯ สงขลา ลงพื้นที่ท่าเรือคลังน้ำมันปตท.สงขลา หวังกระตุ้นให้เกิดความเติบโตทางการค้า วันที่ 25 พ.ย. 64 นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา พร้อมด้วยนายวรณัฎฐ์ หนูรอต รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ร่วมติดตามการดำเนินงานท่าเรือน้ำลึกสงขลา ในพื้นที่อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา เพื่อติดตามการทำงาน พร้อมรับทราบถึงปัญหา และอุปสรรคของการดำเนินงาน จากนั้น ได้ลงพื้นที่ติดตามการทำงานของ คลังปิโตรเลียมสงขลา บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อีกด้วย สำหรับท่าเรือน้ำลึกสงขลา ถูกสร้างขึ้นโดยรัฐบาลเพื่อเอื้ออำนวยในการส่งออกและนำเข้าสินค้าหลักของภาคใต้ สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2529 และรัฐบาลมีนโยบายที่จะให้เอกชนเข้ามาบริหารเพื่อให้กิจการของท่าเรือ สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ บริษัทเจ้าพระยาท่าเรือสากล จำกัด ได้ชนะการประมูล จึงได้เข้ามาบริหารท่าเรือสงขลา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 เป็นต้นมา ท่าเรือสงขลามีพื้นที่ท่าเรือทั้งหมดประมาณ 73 ไร่ ซึ่งกำลังความสามารถของท่าเรือ มีสินค้าผ่านท่า 2.2 ล้านตัน/ปี คอนเทนเนอร์ 210,000 TEU/ปี เพื่อกระตุ้นให้เกิดความเติบโตทางการค้าและอุตสาหกรรม โดยสินค้าหลัก อาทิ ยางพารา อาหารทะเลแช่แข็ง เป็นต้น ทั้งนี้นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้เน้นย้ำกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในเรื่องมาตรการการคัดกรองโรคโควิด-19 ในการขนส่งและนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ให้เข้มงวดในการคัดกรองโรคโควิด-19 เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อ้างอิง : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา

ชาวจะนะรักษ์ถิ่น ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ สงขลา ทวงถามการแก้ไขปัญหาโครงการอุตสาหกรรม หลังจากที่แกนนำกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นได้ทวงคำสัญญาที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ได้เคยรับปากไว้เมื่อตอนที่เคยไปประท้วงที่หน้าทำเนียบฯ ว่าให้ตั้งคณะอนุกรรมการร่วม 3 ฝ่าย โดยมีประชาชนกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นร่วมเป็นกรรมการด้วย แต่กลับมาตั้งคณะอนุกรรมการฯ 2 ชุดขึ้นมาก่อน ซึ่งนายประสานได้ชี้แจงว่า คณะอนุกรรมการ 3 ฝ่ายนั้น ที่ยังไม่ได้ตั้งเพราะต้องรอผลสรุปของคณะอนุกรรมการ 2 คณะที่ตั้งขึ้นมาใหม่เพื่อตรวจสอบก่อน จึงจะตั้งคณะกรรมการร่วม 3 ฝ่ายได้ แต่เพื่อความสบายใจจะเสนอให้มีการตั้งอนุกรรมการ 3 ฝ่ายขึ้นมาคู่ขนานกับอนุกรรมการฯ 2 คณะที่ตั้งขึ้นมาใหม่ ต่อมาวันที่ 25 พ.ย. 64 พี่น้องชาวจะนะ เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ณ ศาลากลางจังหวัดสงขลา เพื่อทวงถามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาในการผลักดันโครงการอุตสาหกรรมจะนะ ว่าด้วยตามความตกลงจากรัฐบาลในการจัดให้มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ (SEA) โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ที่ในขณะนี้เวลาผ่านไป 1 ปี แล้วรัฐบาลก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว แต่กลับให้มีการเดินหน้าจัดทำกระบวนการแก้ไขผังเมืองในพื้นที่ เพื่อเปลี่ยนสีผังเมืองจากพื้นที่สีเขียว หรือที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม […]

เทศบาลนครหาดใหญ่ ขุดรื้อลอกคูหลังพบฝนหนักต่อเนื่อง หวั่นปชช.เดือนร้อนจากน้ำท่วมขัง วันที่ 25 พ.ย. 64 พล.ต.ท.สาคร ทองมุณี นายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ พร้อมด้วย นายเจษฎาพงศ์ ชูแก้ว รองนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ , นายมานพ เพ็งชุม เลขานุการนายกเทศมนตรี ,สมาชิกสภาเทศบาลนครหาดใหญ่,นายธนเดช อินขวัญ ผู้อำนวยการส่วนช่างสุขาภิบาล ,หัวหน้าและเจ้าหน้าที่สำนักช่างเทศบาลนครหาดใหญ่ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 4 กรมเจ้าท่า เพื่อร่วมขุดรื้อลอกคู กำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวาง ในช่วงสถานการณ์หน้าฝน ณ บริเวณ คลองเรดาห์ไปยังคลองต่ำ สำหรับการพยากรณ์อากาศ 7 วัน (25-30 พ.ย. 64) ลักษณะอากาศทั่วไป มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ช่วงวันที่ 25-27 พ.ย. 64 ลมมรสุมตะวันตะวันออกเฉียงเหนือกำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมอ่าวไทย และภาคใต้ ทำให้ฝั่งตะวันออกตอนล่างยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง ช่วงวันที่ 28-30 พฤศจิกายน 2564 บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ส่งผลให้มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทย และภาคใต้กำลังแรงขึ้น จะมีฝนเพิ่ม โดยมีฝนหนักถึงหนักมากในบางพื้นที่ สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยบริเวณอ่าวไทยจะมีคลื่นสูง 2-3 เมตร อ้างอิง : เทศบาลนครหาดใหญ่ , ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก