ชาวสวนทุเรียนภาคใต้ ได้รับผลกระทบจากพายุ “ซินลากู” ต้นทุเรียน กิ่งหัก โค่นล้ม
เนื่องจากจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “ซินลากู” ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ทำให้หลายพื้นที่ของภาคใต้ เกิดฝนตกหนัก ลมกรรโชกแรงพัดกระหน่ำ น้ำท่วมฉับพลัน ส่งผลให้พื้นที่และผลผลิตการเกษตรของราษฎรเสียหาย ซึ่งนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบทั่วประเทศเป็นอย่างมาก และนายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ได้สั่งการไปยังเกษตรจังหวัดทุกจังหวัด ที่ได้รับผลกระทบ สำรวจความเสียหาย และเตรียมการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรโดยเร็วที่สุด หลังจากพายุผ่าน
พร้อมทั้งให้ระดมเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรกระจายลงพื้นที่ตามอำเภอต่าง ๆ เพื่อเยี่ยมเยียนให้กำลังใจพี่น้องเกษตรกรและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม รวมทั้งสำรวจปัญหา สอบถามความต้องการเพื่อฟื้นฟูอาชีพหลังน้ำลด เช่น การส่งเสริมปลูกพืชผักระยะสั้น ซึ่งสำหรับภาคใต้ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติ ร่วมกับอีก 14 จังหวัดภาคใต้ ได้ประสานเน้นย้ำให้จังหวัดติดตามรายงานสถานการณ์อย่างใกล้ชิด กำชับ เจ้าหน้าที่ ลงสำรวจพื้นที่เสียหายและเตรียมการเฝ้าระวัง หากยังมีฝนตกต่อเนื่องจากผลของพายุซินลากู ให้รีบรายงานทันที
โดยในขณะนี้ได้รับรายงานเบื้องต้นจากเกษตรจังหวัดแล้ว โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ได้แก่ ชุมพร ระนอง กระบี่ และนครศรีธรรมราช พบว่าเกษตรกรได้รับความเดือดร้อน ผลผลิตเสียหาย เช่น ทุเรียน กิ่งหัก โค่นล้ม ทำให้ผลผลิตที่กำลังจะออกสู่ตลาดอีกรอบนั้น ร่วงหล่นได้รับความเสียหาย คิดเป็นมูลค่าหลักสิบล้านบาท นอกจากนี้ยังมียางพารา มังคุด พืชล้มลุก และพืชผักสวนครัว ได้รับความเสียหายอีกด้วย จึงให้เจ้าหน้าที่เตรียมพร้อมกรณีฟื้นฟูดูแลสวนผลไม้หลังน้ำลด และได้หารือศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชม ในพื้นที่รับผิดชอบ เตรียมการผลิตเชื้อราไตรโคเดอร์มา เพื่อฟื้นฟูสวนผลไม้ เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายแล้ว
กรณีเสียหายโดยสิ้นเชิง กรมส่งเสริมการเกษตรยึดหลักปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2562 โดยมีหลักเกณฑ์ช่วยเหลือเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรไว้ก่อนเกิดภัย ตามจำนวนพื้นที่จริงที่ได้รับความเสียหาย รายละไม่เกิน 30 ไร่ ได้แก่ ข้าว อัตราไร่ละ 1,113 บาท พืชไร่ อัตราไร่ละ 1,148 บาท และพืชสวนและอื่น ๆ อัตรา ไร่ละ 1,690 บาท เมื่อเกิดภัยพิบัติ และผู้ว่าราชการจังหวัดจะประกาศเขตพื้นที่การให้ความช่วยเหลือฯ เกษตรกรต้องยื่นแบบความจำนงขอรับการช่วยเหลือ (กษ 01) โดยให้ผู้นำรับรอง ก่อนจะมีการตรวจสอบทะเบียนเกษตรกร และพื้นที่เสียหายจริง เพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือตามขั้นตอนต่อไป
และขณะนี้กรมส่งเสริมการเกษตร ได้พัฒนาระบบสำหรับบันทึกข้อมูลการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยธรรมชาติขึ้นใหม่ ทันสมัย รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อจะได้นำข้อมูลให้คณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ (ก.ช.ภ.อ.) และ คณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด (ก.ช.ภ.จ.) รับรอง และส่งข้อมูลให้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรโอนเงินช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรต่อไป
อย่างไรก็ตาม เกษตรกรสามารถขอความช่วยเหลือและคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ กรมส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ได้ ณ สำนักงานเกษตรอำเภอและสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้าน
อ้างอิง : สวท.สงขลา