เคาะแล้ว 23 ก.ค.นี้ อนุมัติโอนเงินเยียวยา ม.33-นายจ้าง 6 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดสีแดงเข้ม
วันที่ 6 ก.ค. 64 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติโครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด กรุงเทพมหานครและปริมณฑล (สีแดงเข้ม) ได้แก่ จังหวัดนครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร กรอบวงเงินจำนวน 2,519.38 ล้านบาท
โดยจะช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน ได้แก่
- นายจ้าง
- ผู้ประกันตน มาตรา 33
ใน 4 ประเภทกิจการได้แก่
- กิจการก่อสร้าง
- กิจการที่พักแรมและบริการด้านอาหาร
- กิจการศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ
- กิจการกิจกรรมการบริการด้านอื่นๆที่ได้รับผลกระทบ
หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการฯ ดังนี้
- นายจ้างที่อยู่ในฐานข้อมูลประกันสังคม ณ วันที่ 28 มิถุนายน 2564 หรือนายจ้างที่ขึ้นทะเบียนใหม่ตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน – 30 กรกฎาคม 2564 จำนวน 41,940 ราย โดยจะได้รับเงินเยียวยาในอัตรา 3,000 บาทต่อลูกจ้างหนึ่งคน สูงสุดไม่เกิน 200 คนต่อแห่ง
- ผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 663,916 ราย จะได้รับเงินเยียวยาในอัตรา 2,000 บาทต่อคน ทั้งนี้กรณีที่ผู้ประกันตนทำงานกับนายจ้างมากกว่า 1 ราย ให้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาเพียงครั้งเดียวในอัตรา 2,000 บาท
สำหรับวิธีการจ่ายเงินเยียวยานั้น กรณีบุคคลธรรมดาและผู้ประกันตนมาตรา 33 จะโอนผ่านบัญชีพร้อมเพย์ (PromptPay) เฉพาะการผูกบัญชีพร้อมเพย์กับเลขบัตรประชาชน กรณีนายจ้างที่เป็นนิติบุคคล สำนักงานประกันสังคมจะโอนเข้าบัญชีเงินฝากตามที่นายจ้างแจ้ง หรือตามวิธีการอื่นๆที่กระทรวงแรงงานกำหนด “โดยเริ่มโอนเงินเยียวยาครั้งแรกภายในวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 และโอนเงินซ้ำทุกสัปดาห์ละ 1 ครั้ง” นายอนุชา กล่าว
อ้างอิง : สำนักงานประกันสังคม
Wed Jul 7 , 2021
สงขลาโรงงานผลิตยางแท่ง (เซาท์แลนด์รีซอร์ซสาขาบางกล่ำ) สาธารณสุขเข้าตรวจเชิงรุกไม่พบพนักงานติดเชื้อโควิด-19 วันที่ 7 ก.ค. 64 นางสุรียพรรณ์ ณ สงขลา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ในฐานะหัวหน้าชุดปฏิบัติการที่ 2 พร้อมด้วยนางสุจินดา บุญแอ แรงงานจังหวัดสงขลา นายประสิทธิ์ สุวรรณประสม พัฒนาการจังหวัดสงขลา นายอามีน ขุนดุเร๊ะ ผู้แทนจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา ลงพื้นที่ติดตามการปฏิบัติงาน ภายใต้คำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสงขลาในสถานประกอบการ ประเภทโรงงาน ณ บริษัท เซาท์แลนด์รีซอร์ซ จำกัด (สาขาบางกล่ำ) ตำบลท่าช้าง อำเภอ บางกล่ำ จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นโรงงานผลิตยางแท่งมาตรฐาน ขนาดกลาง มีพนักงานกว่า 500 คน โดยแบ่งเป็นพนักงานรายเดือน 84 คน และพนักงานรายวัน 465 คน แยกเป็นแรงงานไทย 132 คน แรงงานเมียนมาร์ 309 คน และแรงงานกัมพูชา 10 คน สำหรับการลงพื้นที่ในครั้งนี้ เพื่อประเมินผลการปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข โดยพบว่าทางโรงงานมีการตรวจคัดกรองเชิงรุกในกลุ่มพนักงานแล้วทั้งหมด และไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 พร้อมทั้งมีการวางมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวด โดยให้พนักงานทุกคนสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา มีการเว้นระยะห่างขณะปฏิบัติงาน ทำความสะอาดพื้นที่ผิวสัมผัสทุกวันทั้งก่อนและหลังการทำงาน หรือตามความเหมาะสม มีการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อบริเวณพื้นที่สัญจร บ้านพักพนักงาน และพื้นที่สาธารณะเป็นประจำทุกวัน สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 และแนวทางการป้องกันผ่านระบบกลุ่มไลน์กลาง และบอร์ดประชาสัมพันธ์ ส่วนจุดให้บริการอื่นๆ เช่น จุดบริการน้ำดื่มภายในโรงงานได้ปรับเปลี่ยนมาใช้แก้วกระดาษ แทนแก้วน้ำรวมเพื่อลดการสัมผัส นอกจากนี้ มีการตั้งจุดทิ้งขยะอันตรายเฉพาะหน้ากากอนามัย ถุงมือ และขยะติดเชื้อ เพื่อแยกขยะอันตรายออกจากขยะประเภทอื่นๆ รวมถึงจัดให้มีพ่อค้าแม่ค้ามาขายข้าวสาร อาหารแห้ง ภายในโรงงานสัปดาห์ละสองครั้ง เพื่อควบคุมไม่ให้แรงงานต่างด้าวออกนอกพื้นที่ และมีการตรวจวัดอุณหภูมิพ่อค้าแม่ค้าอย่างเคร่งครัด อีกทั้งทางบริษัทยังมีแผนการรับมือการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 โดยแต่งตั้งคณะกรรมการติดตาม เฝ้าระวัง การแพร่ระบาดภายในโรงงาน การวางแนวทางคัดกรองผู้ประกอบการ บุคคลภายนอก ก่อนเข้ามาในพื้นที่โรงงาน และจัดทำแผนรองรับกรณีพบผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค และระหว่างรอผลยืนยันอย่างเข้มงวด อ้างอิง : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา Facebook iconFacebookTwitter iconTwitterLINE iconLine