สวนสัตว์สงขลา ปรับลดค่าบัตรร้อยละ 50 ให้กับผู้ฉีดวัคซีนโควิด-19 เริ่มวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ วันที่ 30 มิ.ย. 64 นายอรรถพล ศรีเหรัญ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดโปรโมชั่น “สวนสัตว์ปลอดภัย ไทยร่วมใจ ลดให้ 50%” สำหรับผู้ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อโควิด-19 แล้ว สามารถรับส่วนลดค่าบัตรผ่านประตูร้อยละ 50 สำหรับเข้าชมสวนสัตว์ในสังกัดทั้ง 6 แห่งทั่วประเทศ คือ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว สวนสัตว์เชียงใหม่ สวนสัตว์นครราชสีมา สวนสัตว์สงขลา สวนสัตว์อุบลราชธานี และสวนสัตว์ขอนแก่น โดยต้องแสดงหลักฐานเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนจากกระทรวงสาธารณสุข แล้ว ซึ่งกิจกรรมนี้เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กรกฏาคม ถึง วันที่ 30 กันยายนนี้ จึงขอชวนเข้าร่วมชมสวนสัตว์ได้อย่างปลอดภัย
จังหวัดสงขลา คุมเข้มมาตรการคัดกรองผู้เดินทางเข้า-ออก กำชับเจ้าหน้าที่ตรวจสอบยานพาหนะที่เดินทางเข้า-ออกทุกคัน วันที่ 29 มิ.ย. 64 นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา พร้อมด้วย นายจรัญ จันทรปาน ปลัดจังหวัดสงขลา ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม และติดตามการปฏิบัติงานคัดกรองผู้เดินทางเข้า-ออก ในพื้นที่เขตรอยต่อถนนสายหลัก และสายรอง จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ ด่านตรวจบ้านใหม่ ตำบลบ้านใหม่ อำเภอระโนด บริเวณถนนทางหลวงชนบทเส้นทางระหว่างอำเภอระโนด – จังหวัดพัทลุง และด่านตรวจบ้านคลองแดน ตำบลคลองแดน อำเภอระโนด บริเวณถนนทางหลวงหมายเลข 408 ถนนสงขลา – นครศรีธรรมราช โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข คอยอำนวยความสะดวกในการตรวจคัดกรอง ซักถามประวัติเส้นทางการเดินทาง และจุดมุ่งหมายในการเดินทางอย่างเข้มงวด พร้อมทั้งได้มอบหน้ากากอนามัยให้แก่ผู้ปฏิบัติงานเพื่อเป็นขวัญกำลังใจ และให้ปฏิบัติตามแนวทางอย่างเคร่งครัด โดยมุ่งหวังผลการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคเป็นสำคัญ นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า จังหวัดสงขลา เป็น 1 ใน 10 จังหวัด พื้นที่สถานการณ์ที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยให้งดการเดินทางเข้า – ออกพื้นที่จังหวัดสงขลา เป็นระยะเวลา 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2564 ไป เว้นแต่กรณีมีความจำเป็นอย่างยิ่งให้แสดงบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรแสดงตนอื่น ๆ ควบคู่กับเอกสารรับรองความจำเป็นที่ออกโดยพนักงาน เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในพื้นที่ต่อหัวหน้าด่านตรวจ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานประจำด่านตรวจ หรือเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านตรวจ เพื่อใช้ดุลยพินิจในการคัดกรอง โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด – 19 กระทรวงมหาดไทย ทั้งนี้ หากผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนี้ถือเป็นความผิดต้องรับโทษตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท และอาจมีความผิดตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โอกาสนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้กล่าวเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจ ตรวจคัดกรองผู้ที่เดินทางจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และพื้นที่ควบคุมสูงสุดอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดโรค-19 หากมีอาการไข้ ไอ จาม อุณหภูมิร่างกายเกินกว่า 37.5 องศาเซลเซียส ให้ดำเนินมาตรการควบคุมและป้องกันโรคโดยการควบคุมไว้สังเกต แยกตัว หรือกักกันในพื้นที่พำนักหรือสถานที่ที่ทางจังหวัดกำหนดไว้เป็นระยะเวลา 14 วัน นับแต่วันที่ผู้นั้นเดินทางเข้ามายังพื้นที่และให้งดหรือหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ โดยเด็ดขาด อ้างอิง : […]
เทศบาลนครหาดใหญ่ บันทึกข้อตกลง (MOU) เปลี่ยนโรงแรมสำหรับสถานที่กักตัว เน้นผู้ป่วยติดเชื้อกลุ่มอาการน้อยและไม่มีอาการ วันที่ 29 มิ.ย. 64 ณ โรงพยาบาลหาดใหญ่ พล.ต.ท.สาคร ทองมุณี นายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ นายพีระพงษ์ ภาวสุทธิไพศิฐ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหาดใหญ่ และนายบุญเอี่ยม แซ่หว่อง ผู้จัดการทั่วไป บริษัท นรพล กรุ๊ป จำกัด ได้ทำ บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การปรับเปลี่ยนโรงแรมสำหรับสถานที่กักกันตนเอง (Hotel Isolation) ซึ่งทำขึ้นระหว่างโรงพยาบาลหาดใหญ่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา เทศบาลนครหาดใหญ่ และมานอนตะ บัดเจ็ด โฮเต็ล (Manonta Budget Hotel บริษัท นรพล กรุ๊ป จำกัด) โดยทั้ง 3 ฝ่ายตกลงกำหนดความร่วมมือ เพื่อรองรับสถานการณ์ของโรคโควิด-19 (COVID-19) โดยการปรับเปลี่ยนโรงแรมให้เป็นโรงพยาบาลสนาม เพื่อรองรับผู้ป่วยที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยลดความแออัดของเตียงผู้ป่วยโรงพยาบาลหาดใหญ่ ส่งเสริมการดูแลผู้ป่วย COVD-19 อย่างต่อเนื่อง โดยเน้นผู้ป่วยติดเชื้อกลุ่มอาการน้อยและไม่มีอาการ บริหารจัดการเตียง และใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และส่งเสริมความร่วมมือด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจ และสังคม ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน อ้างอิง : เทศบาลนครหาดใหญ่
ตำรวจภูธรหาดใหญ่เปิดบริการ 24 ชั่วโมง ปชช.สามารถขอหนังสือรับรองการเดินทางข้ามจังหวัดได้ วันที่ 29 มิ.ย. 64 ที่ สถานีตำรวจภูธรหาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ประชาชนต่างทยอยเดินทางมาขอหนังสือรับรองการเดินทางข้ามจังหวัดเป็นวันที่ 2 หลังจากมีคำสั่งให้สถานีตำรวจทุกแห่งให้บริการประชาชนในการออกใบขอหนังสือรับรองข้ามจังหวัดได้ โดยทางสถานีตำรวจภูธรหาดใหญ่ได้มีการเปิดบริการ 24 ชั่วโมง มีการจัดเคาน์เตอร์เฉพาะไว้สำหรับติดต่อขอหนังสือรับรองการเดินทางข้ามจังหวัดเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนพร้อมมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัดเพื่อสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยแก่ประชาชนที่มาใช้บริการ สำหรับประชาชนที่มาใช้บริการที่สถานีตำรวจภูธรหาดใหญ่ส่วนใหญ่ได้ดาวน์โหลดเอกสารขอหนังสือรับรองการเดินทางข้ามจังหวัดพร้อมกรอกข้อมูลมาเรียบร้อยแล้วพร้อมที่จะนำมายื่นต่อเจ้าหน้าที่ได้ทันที ทั้งนี้ เพื่อลดขั้นตอนและร่นระยะเวลาในการได้รับหนังสือรับรองข้ามจังหวัดให้รวดเร็วขึ้น แต่ก็มีประชาชนบางส่วนที่มากรอกเอกสารข้อมูลที่สถานีตำรวจโดยมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำในการกรอกเอกสารแก่ประชาชน ด้านประชาชนที่มาใช้บริการ บอกว่า แม้การเดินทางข้ามจังหวัดอาจไม่สะดวกไปบ้างแต่พร้อมให้ความร่วมมือกับทางภาครัฐเพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การเปิดให้มีสถานที่ในการขอหนังสือรับรองการเดินทางข้ามจังหวัดที่มีหลากหลายมากกว่า 1 แห่ง เป็นทางเลือกให้กับประชาชนในการกระจายการให้บริการให้รวดเร็วไม่แออัดอยู่ในสถานที่เดียวซึ่งเป็นไปตามมาตรการของการป้องกันโรคโควิด-19 ภาพรวมการให้บริการมีความพึงพอใจในระดับหนึ่ง อ้างอิง : สถานีตำรวจภูธรหาดใหญ่
สงขลา พบผู้ป่วยโควิด 182 คน รวมผู้ป่วยโควิดระลอกเดือน เม.ย. สะสม 4,308 คน วันที่ 29 มิ.ย. 64 จังหวัดสงขลาพบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อ 182 ราย โดยมีรายละเอียดผู้ติดเชื้อ ดังนี้1.พบผู้ป่วยจากการตรวจคัดกรองเชิงรุกในกลุ่มพนักงานโรงงานสงขลาแคนนิ่ง และผู้สัมผัส จำนวน 47 ราย ( ผู้ป่วยยืนยันทั้งหมดอยู่ภายใต้มาตรการกักกันตัวควบคุมโรค โดยมิได้มีการสัมผัสกับบุคคลภายนอกและชุมชน )2.ผู้ป่วยจากการติดตามค้นหาผู้เดินทางกลับจากโรงเรียนสอนศาสนา (มัรกัส)ในพื้นที่ จ.ยะลา และ จ.ปัตตานี และผู้สัมผัส จำนวน 33 ราย3.พบผู้ป่วยจากการตรวจคัดกรองเชิงรุกในกลุ่มพนักงานโรงงานอุตสาหกรรม 7 แห่ง และผู้สัมผัส จำนวน 42 ราย ผู้ป่วยยืนยันทั้งหมดอยู่ภายใต้มาตรการกักกันตัวควบคุมโรค โดยมิได้มีการสัมผัสกับบุคคลภายนอกและชุมชน4.ผู้ป่วยจากการติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 60 ราย( สัมผัสผู้ป่วย อ.เทพา, ชุมชนเก้าเส้ง, งานแต่งทุ่งยางแดง, ตลาดสดพลาซ่า,และกลุ่มอื่นๆอยู่ระหว่างการสอบสวนโรค ) […]
สปสช. แนะแนวทางรักษาผู้ป่วยโควิดที่บ้าน พร้อมจ่ายค่าอุปกรณ์พร้อมอาหาร 3 มื้อ นายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่ขณะนี้มีคนไข้ปริมาณมาก จำนวนผู้ป่วยที่รักษาหายกับที่เข้ามาใหม่ไม่สมดุลกันทำให้เตียงว่างมีไม่พอ การเพิ่มโรงพยาบาลสนามไม่ทันกับการเพิ่มจำนวนของคนไข้ในช่วงนี้ และสิ่งสำคัญคือบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานหนักมาหลายเดือนอยู่แล้วมีไม่พอ ด้วยเหตุนี้จึงมีการนำแนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่บ้าน (Home isolation) เข้ามาใช้เพื่อให้จำนวนบุคลากรที่มีสามารถดูแลผู้ป่วยในปริมาณมากๆ ได้ โดยขณะนี้มีการนำร่องที่โรงพยาบาลราชวิถีและวันนี้ 29 มิถุนายน 2564 จะมีการประชุมโรงพยาบาลเพื่อเตรียมพร้อมขยายระบบดังกล่าวไปทั่วประเทศ ระบบ Home isolation ของไทยนี้จะต่างจากของต่างประเทศ ซึ่งต่างประเทศจะให้คนไข้ดูแลตัวเองทุกอย่าง แต่ระบบของไทยจะยังอยู่ในการดูแลของโรงพยาบาล มีการให้อุปกรณ์วัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจนไปที่บ้านเพื่อวัดค่าต่างๆ มีแพทย์โทรศัพท์หรือวิดีโอคอลตรวจสอบอาการทุกวัน มีการส่งอาหารและน้ำให้วันละ 3 มื้อ หากอาการทรุดลงก็จะส่งยาฟ้าทะลายโจรและยาฟาวิพิราเวียร์ไปให้ที่บ้านหรือส่งรถไปรับมานอนที่โรงพยาบาล ดังนั้น ระบบของไทยจึงไม่ใช่การผลักผู้ป่วยให้ไปเผชิญชะตากรรมเดียวดายอยู่ที่บ้าน แต่ดูแลเหมือนอยู่ในโรงพยาบาลเพียงแต่เปลี่ยนสถานที่เป็นที่บ้าน ซึ่งคนไข้ที่จะทำแบบนี้ก็ไม่ได้ทำกับผู้ป่วยทั้งหมดแต่ขึ้นอยู่กับการประเมินของแพทย์และลักษณะบ้านว่ามีความเหมาะสมที่จะกักตัวได้หรือไม่ สปสช.จะสนับสนุนค่าบริการให้แก่โรงพยาบาล ตั้งแต่ค่าตรวจหาเชื้อ ค่ารักษา ค่ายา และยังจะสนับสนุนค่าอุปกรณ์ไม่เกิน 1,100 บาท และค่าดูแลผู้ป่วยรวมอาหาร 3 มื้อ ไม่เกิน 1,000 บาทต่อวัน เป็นเวลา 14 วันให้ด้วย นอกจากการทำ Home isolation ในบางสถานที่ที่มีผู้ติดเชื้อหลายคนก็อาจทำเป็นลักษณะ Community isolation ก็ได้ คือนำผู้ป่วยหลายๆ คนไปดูแลในสถานที่ที่จัดไว้เป็นการเฉพาะในชุมชน เช่น ในโรงงาน ในวัด มีรถเอกซเรย์ รถแล็บไปตรวจ มีแพทย์ใช้ระบบ teleconference ดูแลสอบถามอาการทุกวัน ทาง สปสช.ก็จะสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้เช่นเดียวกัน อ้างอิง : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ